วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Postmodern theory

ตามรอยแนวคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่ : Postmodern theory

ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น
หัวเรื่องหลักในบทความนี้
บทนำที่หนึ่ง : ในการค้นหาเกี่ยวกับ โพสท์โมเดิร์น
บทนำที่สอง : ฟูโกและการวิจารณ์เกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่
บทนำที่สาม : Deleuze และ Guattari: Schizos, Nomads, Rhizomes
บทนำที่สี่ : Baudrillard ในเส้นทางสู่ความเป็นหลังสมัยใหม่
บทนำที่ห้า : Lyotard และการเล่นเกมโพสท์โมเดิร์น

Chapter 1: In Search of the Postmodern
บทนำที่หนึ่ง : ในการค้นหาเกี่ยวกับ โพสท์โมเดิร์น
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา การถกเถียงกันเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นได้มีอิทธิพลต่อฉากทางด้านศิลปวัฒนธรรมและวงวิชาการในหลายสาขาทั่วโลก. ในด้านทฤษฎีสุนทรียศาสตร์และวัฒนธรรม การโต้เถียงกันปรากฏตัวขึ้นมาท่ามกลางศิลปะลัทธิโมเดิร์น ไม่ว่ามันศิลปะในยุคโมเดิร์นจะยังคงดำเนินต่อไป หรือยังไม่ตายก็ตาม แต่ศิลปะแนวโพสท์โมเดิร์นกำลังไล่หลังตามมาติดๆ. ในทางปรัชญา ข้อถกเถียงกันต่างๆได้ปะทุขึ้นมาในความสนใจ ไม่ว่าขนบจารีตของปรัชญาสมัยใหม่จะสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่หลายต่อหลายคนเริ่มให้การยกย่องปรัชญาโพสท์โมเดิร์นที่ไปเชื่อมโยงกับ เกี่ยวเนื่องกันกับงานของ Nietzche, Heidegger, Derrida, Rorty, Lyotard, และคนอื่นๆ.

บรรดาผู้ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่โพสท์โมเดิร์น ได้วิพากษ์วัฒนธรรม, ทฤษฎี, และการเมืองแนวขนบจารีตยอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันพวกที่ให้การปกป้องเกี่ยวกับขนบประเพณีแบบโมเดิร์นก็ตอบโต้ด้วยการเมินเฉยหรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อพวกที่ท้าทายใหม่ๆ และมีการโจมตีพวกดังกล่าวกลับไป นอกจากนี้บางคนก็มีปฏิกริยาตอบโต้ด้วยการพยายามที่จะเรียนรู้เรื่องราวของโพส์ทโมเดิร์นด้วยความยากลำบาก และแย่งชิงวาทกรรมใหม่ๆและฐานะตำแหน่งต่างๆเหล่านี้เอาไว้

บรรดานักวิจารณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่โพสท์โมเดิร์นหรือหลังสมัยใหม่ ให้เหตุผลว่า มันเป็นเพียงแฟชั่นความนิยมเพียงชั่วครั้งชั่วคราวที่จะผ่านเลยไป(Foucault 1986/7; Guattari 1986), และบางคนก็กล่าวว่า มันเป็นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ดูเรียบร้อยภายนอกอันหนึ่งของปัญญาชนทั้งหลาย ในการแสวงหาเกี่ยวกับวาทกรรมใหม่และต้นตอหรือแหล่งที่มาของทุนทางวัฒนธรรม(Britton 1988), หรือแม้แต่นักอุดมคติแนวอนุรักษ์นิยมอีกคน ก็วิจารณ์ว่าเป็นความพยายามที่จะลดทอนคุณค่าทฤษฎีโมเดิร์นและค่านิยมต่างๆเกี่ยวกับการปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระลงมา(Habermas 1981 and 1987a). แต่การปรากฎตัวขึ้นมาของวาทกรรมต่างๆของโพสท์โมเดิร์น และสิ่งที่ยังไม่เป็นที่เข้าใจเหล่านี้ได้หยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆขึ้นมา ซึ่งแสดงถึงการต่อต้านและปฏิเสธที่จะรวมเข้าไปอยู่กับกระบวนทัศน์ทั้งหลายซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้วอย่างละมุนละม่อม

ในทัศนะที่กว้างขวางเกี่ยวกับข้อโต้แย้งในเรื่องของโพสท์โมเดิร์น เราเสนอที่จะสร้างคำอธิบายและแยกแยะความแตกต่างระหว่างการแสดงออกมาอย่างชัดเจนในสิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น กับ การที่จะพยายามชี้ให้เห็นถึงฐานะตำแหน่งที่เป็นแกนหลักสำคัญของมัน เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และมองหาข้อจำกัดต่างๆที่มีอยู่. กระนั้นก็ตาม ดังที่เราจะได้เห็นว่า มันไม่มีทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นที่เป็นหน่วยเดียวหรือเอกภาพ หรือแม้แต่สภาพการณ์ใดๆที่เชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันที่มีลักษณะรวมกันเป็นเนื้อเดียวกัน

ตรงกันข้าม ทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดอาจจะถูกโจมตีโดยความหลากหลายแตกต่างระหว่างทฤษฎี ซึ่งบ่อยครั้ง รวมเข้าด้วยกันเป็นก้อนในฐานะที่เป็นทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น และทฤษฎีพหุนิยม - ซึ่งก็ขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ - เกี่ยวกับสภาพการณ์ของโพสท์โมเดิร์น . ทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดยังอาจถูกโจมตีโดยความคิดที่ไม่แข็งแรงมากพอ หรือยังอยู่ภายใต้การสร้างให้เป็นทฤษฎีขึ้นมาได้ด้วยเกี่ยวกับ"โพสท์โมเดิร์น" ในทฤษฎีต่างๆซึ่งรับเอามา หรือถูกแสดงตัวหรืออธิบายในเทอมดังกล่าว

เพื่อความกระจ่างชัดเกี่ยวกับคำซึ่งเป็นกุญแจสำคัญบางคำในครอบครัวของแนวความคิดเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์น มันจะเป็นประโยชน์มากที่จะจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างวาทกรรมต่างๆของโมเดิร์นและโพสท์โมเดิร์นออกจากกัน(see Featherston 1988). ซึ่งในบทนี้ ท่านจะพบกับเนื้อหาดังกล่าว

สำหรับการเริ่มต้น เราอาจต้องจำแนกความแตกต่างระหว่าง"ความเป็นสมัยใหม่"(modernity)ที่ได้รับการทำให้เป็นแนวคิดขึ้นมาในยุคโมเดิร์น กับ "ความเป็นหลังสมัยใหม่"(postmodernity)ในฐานะที่เป็นศัพท์ใหม่คำหนึ่ง ซึ่งได้มาอธิบายถึงยุคสมัยที่ตามมาของความเป็นสมัยใหม่(modernity)ที่พูดถึง. มันมีวาทกรรมมากมายเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งต่อมาภายหลังมันมีคุณสมบัติของความเป็นหลังสมัยใหม่ และศัพท์คำดังกล่าวยังเป็นการพูดถึงความหลากหลายในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, และวัฒนธรรมด้วย

ความเป็นสมัยใหม่(modernity) ดังที่ถูกทำให้เป็นทฤษฎีขึ้นมาโดย Marx, Weber, และคนอื่นๆ, เป็นศัพท์ที่เกี่ยวกับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอ้างอิงถึงยุคสมัยที่ต่อมาจาก"ยุคกลาง"(Middle Ages) หรือลัทธิศักดินา(feudalism). สำหรับบางคน ความเป็นสมัยใหม่ถูกทำให้ตรงข้ามกับสังคมตามจารีตประเพณีเดิมๆ และถูกสร้างอัตลักษณ์ของตัวมันขึ้นมาโดยสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่, ความแปลก, และความเป็นพลวัตร(Berman 1982).

วาทกรรมต่างๆในทางทฤษฎีของความเป็นสมัยใหม่นับจาก Descartes จนมาถึง the Enlightenment (ยุคสว่างหรือยุคแห่งพุทธิปัญญา) และลูกหลานของมันที่ให้การสนับสนุนเรื่องราวของเหตุผลนั้น ต่างถือว่า"เหตุผล"เป็นต้นตอของ"ความก้าวหน้า"ในด้านความรู้และความเจริญของสังคม เช่นเดียวกับฐานะตำแหน่งที่เป็นสิทธิพิเศษของความจริง(truth) และรากฐานของความรู้ที่เป็นระบบ

"เหตุผล"ได้รับการเข้าใจว่า ตัวมันเองมีความสามารถที่จะค้นพบบรรทัดฐานทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างเพียงพอ ซึ่งระบบคิดและการกระทำสามารถที่จะได้รับการสร้างขึ้นมา และสังคมสามารถได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน. โครงการยุคสว่างหรือยุคแห่งพุทธิปัญญานี้(Enlightenment project)ยังเป็นสิ่งที่นำไปปฏิบัติและมีอิทธิพลในอเมริกา, ฝรั่งเศส, และประเทศที่มีการปฏิวัติประชาธิปไตยอื่นๆด้วย ซึ่งพยายามที่จะล้มล้างโลกแห่งศักดินาลง และสร้างระเบียบสังคมที่ยุติธรรมและความเสมอภาคขึ้นมา ที่จะทำให้เหตุผลและความก้าวหน้าของสังคมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา (Toulmin 1990).

ความเป็นสมัยใหม่ในทางสุนทรียะ ปรากฏตัวขึ้นมาในความเคลื่อนไหวของพวกขบวนการทางศิลปะแนวหน้าของบรรดาโมเดิร์นนิสท์(the new avant-garde modernist movements) และบรรดาวัฒนธรรมรองต่างๆที่ไม่ยึดถือตามขนบจารีต(behemian subcultures) ซึ่งกบฎต่อแง่มุมที่แปลกแยกของความเป็นอุตสาหกรรมและความเป็นเหตุเป็นผล ขณะเดียวกันก็แสวงหาการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและค้นหาความสามารถของตนเองในเชิงสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ในทางศิลป[to find creative self-realization in art]

ความเป็นสมัยใหม่ได้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันโดยผ่านการโปรยปรายของศิลปสมัยใหม่ ผลผลิตต่างๆของสังคมบริโภค เทคโนโลยี และลักษณะหรือวิธีการเกี่ยวกับการขนส่งและการสื่อสาร. พลวัตรต่างๆและความเป็นสมัยใหม่ได้สร้างโลกอุตสาหกรรมและอาณานิคมใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถจะได้รับการอธิบายในฐานะที่เป็น"การทำให้เป็นสมัยใหม่"(modernization) [สำหรับศัพท์คำว่า modernization เป็นศัพท์ที่แสดงถึงขบวนการเหล่านั้นของ การทำให้เป็นปัจเจก, การทำให้เป็นเรื่องทางโลก, การทำให้เป็นอุตสาหกรรม, ความแตกต่างทางวัฒนธรรม, การทำให้เป็นสินค้า, การทำให้มีความเป็นเมือง, การทำให้เป็นระบบราชการ, และการทำให้เป็นเหตุผล ซึ่งรวมเข้าด้วยกันได้ก่อให้เกิดโลกสมัยใหม่ หรือ modern world ขึ้นมา]

กระนั้นก็ตาม การสร้างความเป็นสมัยใหม่ขึ้นมา ได้ผลิตความทุกข์ยากและความเจ็บปวดที่ไม่ได้มีการเปิดเผยหรือบอกกล่าวล่วงหน้าเอาไว้เกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของมัน ซึ่งไล่เลียงได้นับจาก ชาวไร่, ชาวนา, กรรมกร, และช่างฝีมือทั้งหลายที่ถูกกดขี่โดยการทำให้เป็นอุตสาหกรรมของนายทุน จนกระทั่งถึงการกีดกันผู้หญิงออกไปจากปริมณฑลสาธารณะ และไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกี่ยวกับการทำให้เป็นอาณานิคมของนักจักรวรรดิ์นิยมทั้งหลาย

ความเป็นสมัยใหม่ยังได้สร้างสถาบันทั้งหลายที่เกี่ยวกับระเบียบวินัยขึ้นมา ปฏิบัติการต่างๆ และวาทกรรมหลายหลากที่ทำให้วิธีการต่างๆของมันในการครอบงำและบังคับควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. ด้วยเหตุนี้ ใน The `dialectic of Enlightenment' (หลักวิภาษวิธีของยุคสว่าง)(Horkheimer and Adorno 1972) จึงได้อธิบายถึงขบวนการอันหนึ่ง ซึ่ง"ความเป็นเหตุเป็นผล"ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะที่ตรงข้ามกันกับตัวมัน และคำทั่นสัญญาของความเป็นสมัยใหม่เกี่ยวกับการปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ กลายเป็นหน้ากากของการกดขี่และการครอบงำ. กระนั้นก็ตาม บรรดาผู้ปกป้องเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่((Habermas 1981, 1987a, and 1987b) อ้างว่า "มันมีศักยภาพที่ยังไม่บรรลุผล"(unfulfilled potential) และมีทรัพยากรต่างๆที่จะเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ และผลของการทำลายล้างเหล่านี้

แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นอ้างว่า ในสังคมร่วมสมัยที่มีความไฮเทคทางด้านสื่อ, กระบวนการต่างๆที่เร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการแปรผัน สิ่งเหล่านี้กำลังผลิตสังคมโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งขึ้นมา และผู้ที่ให้การสนับสนุนมันทั้งหลายอ้างว่า ยุคของความเป็นโพสท์โมเดิร์นได้ก่อให้เกิดภาวะทางประวัติศาสตร์ที่แปลกใหม่อันหนึ่ง และการก่อตัวขึ้นมาของสังคมวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งต้องการแนวความคิดและทฤษฎีใหม่ๆมารองรับ

บรรดานักทฤษฎีเกี่ยวกับความเป็นโพสท์โมเดิร์น (Baudrillard, Lyotard, Harvey, ฯลฯ) ให้เหตุผลว่า เทคโนโลยีต่างๆอย่างเช่น คอมพิวเตอร์และสื่อ, รูปแบบใหม่ของความรู้, และการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมเศรษฐกิจต่างๆกำลังสร้างรูปแบบทางสังคมหลังสมัยใหม่อันหนึ่งขึ้นมา. Baudrillard และ lyotard ได้ตีความพัฒนาการต่างๆเหล่านี้ในเทอมของแบบฉบับที่แปลกใหม่ของข้อมูล, ความรู้, และเทคโนโลยี, ขณะที่บรรดานักทฤษฎีนีโอ-มาร์กซิสท์ทั้งหลาย อย่าง Jameson และ Harvey ได้ตีความ โพสท์โมเดิร์น ในเทอมต่างๆของพัฒนาการเกี่ยวกับขั้นตอนที่สูงกว่าของลัทธิทุนนิยม(higher stage of capitalism) ซึ่งมันได้รับการทำเครื่องหมายขึ้นมาโดยการแทรกซึมของทุนในระดับที่สูงขึ้น และการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันข้ามโลก

กระบวนการต่างๆเหล่านี้กำลังสร้างการแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นด้วย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในประสบการณ์เกี่ยวกับพื้นที่ว่างและเวลา, และลักษณะใหม่ๆของประสบการณ์, ความเป็นตัวตน, และวัฒนธรรม. เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ได้ให้พื้นฐานสังคมเศรษฐกิจและรากฐานทางวัฒนธรรมสำหรับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น และการวิเคราะห์ของมันได้ให้มุมมองและทัศนียภาพต่างๆจากสิ่งซึ่งทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น สามารถอ้างได้ว่าอยู่บนแถวหน้าสุดของพัฒนาการร่วมสมัย

นอกจากความแตกต่างกันระหว่าง"ความเป็นสมัยใหม่"และ"ความเป็นหลังสมัยใหม่"ในปริมณฑลของทฤษฎีทางสังคมแล้ว, วาทกรรมเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่หรือโพสท์โมเดิร์น ยังแสดงบทบาทสำคัญในอาณาเขตของสุนทรียศาสตร์และทฤษฎีทางวัฒนธรรมด้วย. ในที่นี้ ข้อถกเถียงได้ไปเกี่ยวพันรายรอบความแตกต่างระหว่างลัทธิสมัยใหม่และลัทธิหลังสมัยใหม่ในศิลปกรรมต่างๆ

ภายใต้วาทกรรมนี้ "ลัทธิสมัยใหม่" อาจถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงขบวนการทางศิลปะของยุคโมเดิร์น (ลัทธิ impressionism, l'art our l'art, expression, surrealism, และขบวนการแนวหน้าอื่นๆ หรือ avant-garde movements), ขณะที่"ลัทธิหลังสมัยใหม่"สามารถอธิบายถึงรูปแบบและปฏิบัติการต่างๆทางสุนทรีย์ที่หลากหลายซึ่งตามมาทีหลัง และแตกหักกับลัทธิสมัยใหม่. รูปแบบเหล่านี้รวมเอาสถาปัตยกรรมของ Robert Venturi และ Philip Johnson, การทดลองทางด้านดนตรีของ John Cage, ผลงานศิลปะของ Warhol และ Rauschenberg, นวนิยายต่างๆของ Pynchon และ Ballard, และงานภาพยนตร์อย่างเช่นเรื่อง Blade Runner หรือ Blue Velvet. ข้อถกเถียงกันเหล่านี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ข้อแตกต่างทางแนวคิดอันแหลมคมระหว่างลัทธิสมัยใหม่และลัทธิหลังสมัยใหม่ และลักษณะที่ดีและข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับขบวนการต่างๆเหล่านี้

วาทกรรมต่างๆเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ ยังปรากฎตัวในขอบเขตของทฤษฎีและการโฟกัสลงบนการวิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ และข้อถกเถียงกันต่างๆสำหรับความแตกร้าวของทฤษฎีหลังสมัยใหม่. ทฤษฎีสมัยใหม่ - ไล่ลำดับจากโครงการปรัชญาของ Descartes, ไปจนถึง the Enlightenment, จนกระทั่งถึงทฤษฎีทางสังคมของ Comte, Marx, Weber และคนอื่นๆ - ได้ถูกวิจารณ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาของมันเพื่อวางรากฐานอันหนึ่งเกี่ยวกับความรู้, การทำให้เป็นสากล และข้ออ้างแบบรวมทั้งหมด, ความหยิ่งผยองของมันต่อการค้นหาความจริงที่อยู่เหนือคำโต้แย้ง และลัทธิเหตุผลอันหลอกลวงและน่าสงสัยของมัน. โดยในทางที่แย้งกัน บรรดาผู้ปกป้องเกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ ได้โจมตีลัทธิสัมพัทธนิยมหลังสมัยใหม่(postmodern relativism), ลัทธิความไร้เหตุผล(irrationalism), และสุญนิยม(nihilism)

ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ยังวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนความจริง และความเชื่อสมัยใหม่ที่ว่าทฤษฎีเป็นกระจกเงาสะท้อนความจริง โดยแทนที่ฐานะสภาพทางทัศนียวิทยาและลักษณะสัมพัทธ์ที่ว่า ทฤษฎีต่างๆ อย่างเก่งที่สุด ก็เพียงให้ทัศนียภาพเพียงบางส่วนของวัตถุต่างๆ และการเป็นตัวแทนของการรับรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับโลกนั้นเป็นเพียงสื่อกลางทางประวัติศาสตร์และทางภาษาเท่านั้น

ทฤษฎีหลังสมัยใหม่หรือโพสท์โมเดิร์นบางทฤษฎี ปฏิเสธอย่างสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับทัศนียภาพขนาดใหญ่(macroperspective)ทั้งหมดในเรื่องของสังคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการชื่นชอบโดยทฤษฎีสมัยใหม่หรือโมเดิร์น ทฤษฎีหลังสมัยใหม่เห็นด้วยและให้การสนับสนุนเกี่ยวกับทฤษฎีเล็กๆและการเมืองขนาดเล็ก(microthery and micropolitics)(Lyotard 1984a)

ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นยังปฏิเสธข้อสันนิษฐานต่างๆของทฤษฎีโมเดิร์นเกี่ยวกับความสอดคล้องกันทางสังคม และความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเหตุเป็นผล. ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นสนับสนุนความหลากหลาย, ลักษณะพหุวิสัย, การแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย, และลักษณะที่ไม่แน่นอนคลุมเครือ

นอกจากนี้ ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นยังละทิ้งเรื่องของเหตุผลและอัตบุคคลที่เป็นหน่วยเดียว(unified subject)ซึ่งได้รับการยืนยันโดยทฤษฎีโมเดิร์นเป็นจำนวนมาก ด้วยการสนับสนุนการกระจายออกจากศูนย์กลางทางสังคมและทางภาษา และอัตบุคคลที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย(fragmented subject)

ด้วยเหตุนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนเกี่ยวกับแนวคิด ในที่นี้จึงอยากจะใช้ศัพท์คำว่า"ความเป็นหลังสมัยใหม่"( postmodernity)เพื่ออธิบายถึงยุคสมัยที่ตามมาหลังจาก"ความเป็นสมัยใหม่"(modernity), และใช้คำว่า"ลัทธิหลังสมัยใหม่"(postmodernism)เพื่ออรรถาธิบายถึงขบวนการต่างๆและสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในขอบเขตทางวัฒนธรรม ที่สามารถได้รับการจำแนกแยกแยะจากขบวนการต่างๆของสมัยใหม่(modernist), รวมไปถึงตำรับตำราทั้งหลาย และปฏิบัติการต่างๆ

เรายังแยกความแตกต่างระหว่าง"ทฤษฎีสมัยใหม่"(modern theory) กับ "ทฤษฎีหลังสมัยใหม่"(postmodern theory)ด้วย, เช่นเดียวกับระหว่าง"การเมืองสมัยใหม่"(modern politics)ซึ่งได้ถูกสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาโดยพรรคการเมือง, รัฐสภา, หรือการเมืองแบบสหภาพแรงงาน(trade union politics - รูปแบบองค์กรทางการเมืองที่รวมตัวกันโดยคนงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง) ในทางที่ตรงข้ามกันกับ"การเมืองหลังสมัยใหม่"(postmodern politics)ที่เชื่อมสัมพันธ์กับการเมืองขนาดเล็กที่มีฐานของท้องถิ่น(locally base micropolitics) ซึ่งท้าทายต่อขบวนการอันกว้างขวางของวาทกรรมต่างๆ และรูปแบบที่ถูกทำให้เป็นสถาบันต่างๆขึ้นมาของอำนาจ

เพื่อให้ความกระจ่างและความสว่างต่อความสับสนและวาทกรรมหลากรูปแตกต่างกันของโพสท์โมเดิร์น อันดับแรก เราจะนำเสนอวิธีการทางโบราณคดีหรือการขุดค้นเกี่ยวกับคำศัพท์ อธิบายอย่างละเอียดถึงประวัติศาสตร์ของมัน การนำมาใช้ในช่วงแรกๆ และความหมายที่ขัดแย้งกันต่างๆ. ต่อจากนั้น เราจะไปดูกันถึงพัฒนาการเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นร่วมสมัยในบริบทของช่วงหลังทศวรรษที่ 1960s ในประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับเงื่อนไขของโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งกลายมาเป็นแนวทางหรือแก่นแกนสำคัญในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970s. และในหัวข้อ 1.3 เราจะเสก็ตภาพให้เห็นถึงข้อสงสัยและการซักไซ้ไล่เรียงของเราเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น และทัศนียภาพที่จะช่วยนำทางข้อซักถามของเราไปจนตลอดของหนังสือเล่มนี้

Chapter 2: Foucault and the Critique of Modernity
บทนำที่สอง : ฟูโกและการวิจารณ์เกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่

"มันมีความจำเป็นไหมที่จะลากเส้นขึ้นมาเส้นหนึ่งระหว่าง คนเหล่านั้นที่เชื่อว่า เราสามารถที่จะวางความไม่ต่อเนื่องต่างๆ(discontinuities)ในปัจจุบันของเราต่อไปในขนบจารีตประวัติศาสตร์ และขนบจารีตที่เหนือธรรมดาของคริสตศตวรรษที่สิบเก้า กับ คนเหล่านั้นที่กำลังสร้างความพยายามที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งเพื่อปลดปล่อยตัวของพวกเขาเองให้เป็นอิสระ, และในท้ายสุด จากกรอบโครงสร้างแนวคิดอันนี้ มันจำเป็นไหม ?"(Foucault 1977: p.120)
"อะไรที่กำลังเป็นไปในช่วงนี้ ? อะไรที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเรา ? อะไรคือโลกนี้, ยุคนี้, ช่วงขณะที่แท้จริงตอนนี้ซึ่งเรากำลังมีชีวิตอยู่ ?"(Foucault 1982a p.216)
"ความประทับใจเกี่ยวกับความสำเร็จและเกี่ยวกับขั้นตอนสุดท้าย ความรู้สึกที่ถูกห่อหุ้มไว้ ซึ่งนำพาและขับเคลื่อนความคิดของเรา และบางทีกล่อมให้เราหลับไหลด้วยพลังความสามารถของคำมั่นสัญญาของมัน... และทำให้เราเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างใหม่ๆจวนเจียนจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว บางสิ่งที่เราเหลือบแลเห็นซึ่งเป็นเพียงเส้นบางๆของแสงสว่างที่ปลายขอบฟ้า - ความรู้สึกและความประทับใจอันนั้น บางที จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยความไม่ยากเย็นเกินไปนัก" (Foucault 1973b: p.384)

การวิจารณ์ของฟูโกเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่และลัทธิมนุษยนิยม พร้อมกับคำประกาศของเขาเกี่ยวกับความตายของมนุษย์และการพัฒนามุมมองหรือทัศนียภาพใหม่ๆในทางสังคม, ความรู้, วาทกรรม, และอำนาจ ได้ทำให้เขากลายเป็นทรัพยากรหลักของความคิดโพสท์โมเดิร์นคนหนึ่ง

ฟูโกแสดงการต่อต้านต่อขนบจารีตของยุคสว่าง(anti-Enlightenment) โดยปฏิเสธเรื่องของเหตุผล, การปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ, และความก้าวหน้า, โดยถกถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างรูปแบบสมัยใหม่ต่างๆของอำนาจและความรู้ ที่ได้มารับใช้ ตกแต่ง และสรรค์สร้างรูปแบบใหม่ๆของการครอบงำขึ้นมา.

ในชุดของการศึกษาที่เรียกว่า historico-philosophical studies (การศึกษาทางด้านปรัชญาประวัติศาสตร์) เขาได้พยายามที่จะพัฒนาและพิสูจน์ถึงแนวเรื่องอันนี้จากหลายหลากมุมมอง: ทั้งจากจิตเวชศาสตร์, การแพทย์, การลงโทษ, และอาชญวิทยา, การปรากฎตัวขึ้นมาของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์มนุษย์ต่างๆ(human sciences), การก่อตัวขึ้นมาของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่รักษาระเบียบวินัย(disciplinary)อย่างหลากหลาย, และการสร้างตัวขึ้นมาของอัตบุคคล(subject).

โครงการของฟูโกต้องการที่จะเขียนงานวิจารณ์เกี่ยวกับยุคประวัติศาสตร์ของเรา(1984: p.42) ซึ่งพิจารณาในฐานะที่เป็นปัญหารูปแบบสมัยใหม่ของความรู้, ความมีเหตุมีผล, สถาบันต่างๆทางสังคม, และความเป็นอัตบุคคล ที่ดูเหมือนจะได้มาและเป็นธรรมชาติ. แต่ในข้อเท็จจริง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งสร้างทางสังคมประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อนของอำนาจและการครอบงำ(contingent sociohistorical constructs of power and domination)

ในขณะที่ฟูโกมีอิทธิพลต่อทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นอย่างเข้มแข็ง แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะย่อยซึมเรื่องราวทั้งหมดสู่กฎเกณฑ์นั้นได้ เขาเป็นนักคิดที่สลับซับซ้อนและกว้างขวางทางด้านข้อมูล ซึ่งได้ดึงความรู้จากทรัพยากรหลายๆแหล่งมาใช้และยากต่อการทำความเข้าใจ ขณะเดียวกัน ตัวเขาเองก็ไม่สามารถที่จะทำให้มันมาอยู่บนระนาบของเส้นแนวเดียวกันได้

ถ้าหากว่านั่นเป็นภาพที่พิเศษในงานของเขา, คนเหล่านั้นที่เขาอ้างถึง อย่างเช่น Nietzsche และ Bataille ก็เป็นนักวิจารณ์เกี่ยวกับเหตุผลและความคิดตะวันตกเช่นกัน. Nietzsche ได้ตระเตรียมให้ Foucault และเกือบจะเหมือนๆกันกับบรรดานักคิดหลังโครงสร้างนิยมฝรั่งเศสทั้งหลาย(French poststructuralists) ด้วยการผลักดันและให้ไอเดียต่างๆของคนเหล่านี้ หลุดพ้นไปจากปรัชญา Hegelian และ Marxist.

นอกจากนี้ยังได้น้อมนำไปสู่แบบหรือวิธีคิดของ postmetaphysical(หลังอภิปรัชญา) และ poshumanist(หลังมนุษยนิยม), Nietzsche สอน Foucault ว่า เราสามารถที่จะเขียนประวัติศาสตร์วงศ์วานวิทยา(genealogical' history) เกี่ยวกับหัวข้อต่างๆที่ไม่ได้เป็นไปตามขนบประเพณีได้ อย่างเช่น เรื่องของ"เหตุผล", "ความบ้า" และ"อัตบุคคล" ซึ่งค้นหาสมุฏฐานการปรากฏตัวขึ้นมาของสิงเหล่านี้ได้ภายในที่ต่างๆที่มีการครอบงำ

Nietzsche แสดงให้เห็นว่า เจตจำนงต่อความจริงและความรู้เป็นสิ่งที่ไม่อาจตัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงจากเจตจำนงต่ออำนาจได้(the will to truth and knowledge is indissociable from the will to power), และฟูโกได้พัฒนาข้ออ้างเหล่านี้ในงานวิจารณ์ของเขาต่อลัทธิมนุษยนิยมแบบ liberal humanism, วิทยาศาสตร์มนุษย์(human sciences), และในงานชิ้นหลังของเขาทางด้านจริยศาสตร์. ขณะเดียวกัน Foucault ไม่เคยเขียนงานของตนในลักษณะคติพจน์ในสไตล์เดียวกันกับ Nietzsche เลย เขายอมรับคำอ้างต่างๆของ Nietzsche ว่าระเบียบวิธีที่ทำให้เป็นระบบได้ทำให้งานวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์และสังคมลดทอนลงไป และความรู้นั้นมีลักษณะเป็นมุมมองหรือทัศนียภาพในธรรมชาติแบบภาพกว้าง ซึ่งต้องการแง่คิดหรือข้อสังเกตที่หลายหลากเพื่อตีความ"ความจริงที่ไม่ลงรอยเป็นเนื้อเดียวกัน"(heterogeneous reality)เหล่านี้

Foucault ยังได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจาก Bataille ด้วย ซึ่งได้โจมตีเหตุผลของยุคสว่าง(Enlightenment reason)อย่างรุนแรง และหลักการเกี่ยวกับความจริงของวัฒนธรรมตะวันตก. Bataille (1985, 1988, 1989)ให้การสนับสนุนขอบเขตปริมณฑลของความแตกต่างไม่เป็นเนื้อเดียวกัน(heterogeneity), พลังอำนาจที่ปะทุขึ้นและความปลื้มปิติอย่างเหลือล้นของความร้อนรนทางศาสนา, ความเป็นเรื่องของทางโลก(secularity), และประสบการณ์มึนเมา(intoxicated experience)ที่ล้มล้างและละเมิดต่อเครื่องมือของเหตุผล และความเป็นปกติวิสัยของวัฒนธรรมชนชั้นกลาง

การต่อต้านทัศนะของนักเหตุผลนิยมทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและปรัชญา, Bataille แสวงหาสิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไปจากการผลิตและความต้องการที่ถือเรื่องประโยชน์เป็นสำคัญ, ขณะเดียวกันก็ให้การยกย่องเศรษฐกิจทั่วไปอันหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภค, ความสิ้นเปลือง-เปล่าประโยชน์, และการใช้จ่ายในฐานะที่เป็นนักปลดปล่อย(liberator). ลักษณะอันเร่าร้อนของ Bataille ผูกติดอยู่กับปรัชญาอัตบุคคลที่มีอำนาจปกครองตนเอง และการอ้าแขนของเขาไปโอบรัดประสบการณ์ต่างๆที่มีลักษณะฝ่าฝืนหรือละเมิด อันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อ Foucault และบรรดานักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นคนอื่นๆ

โดยตลอดงานเขียนต่างๆของเขา, Foucault ได้ให้เหตุผลหรือแสดงให้เห็นคุณค่าในคนต่างๆ อย่างเช่น Holderlin, Artaud, และคนอื่นๆสำหรับการล้มล้างการครอบงำหรือความเป็นผู้นำของเหตุผลสมัยใหม่และบรรทัดฐานตางๆของมัน บ่อยครั้ง เขายังร่วมรู้สึกและเอาใจใส่ในเรื่องของความบ้า, อาชญากรรม, สุนทรียภาพ, และลักษณะชายขอบทุกๆชนิด

การทำความรู้จักกับปัญหาต่างๆกับป้ายฉลากที่ติดมากับผลงานของ Foucault, เราปรารถนาที่จะสำรวจถึงขอบเขตที่เขาได้พัฒนาฐานะสภาพที่แท้จริงของโพสท์โมเดิร์น. พวกเราจะไม่อ่านงานของ Foucault ในฐานะโพสท์โมเดิร์นนิสท์ที่ง่ายๆสั้นๆ, แต่อ่านงานของเขาในฐานะที่เป็นนักทฤษฎีคนหนึ่ง ผู้ซึ่งได้รวบรวมเอามุมมองและทัศนียภาพของ premodern, modern, และ postmodern มาไว้ด้วยกัน.

เรามองว่า Foucault เป็นนักคิดที่ขัดแย้งคนหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ความคิดของเขาได้ถูกฉีกทึ้งระหว่างความตรงข้ามกัน อย่างเช่น แรงกระตุ้นในลักษณะ totalizing / detotalizing และความตึงเครียดระหว่าง การทำให้เป็นทฤษฎีขึ้นมาของ discursive / extra-discursive, macro / microperspective, และ หลักวิภาษวิธีของ domination / resistance

Chapter 3: Deleuze and Guattari: Schizos, Nomads, Rhizomes
บทนำที่สาม : Deleuze และ Guattari: Schizos, Nomads, Rhizomes
"ในทุกวันนี้เราอาศัยอยู่ในยุคของวัตถุต่างๆ, ก้อนอิฐ ก้อนหิน ที่แตกออกเป็นชิ้นๆ และเศษดินเศษทรายเล็กๆน้อยๆที่เหลืออยู่... พวกเราไม่เชื่อในความคิดรวบยอดเบ็ดเสร็จเดิมๆอีกแล้วซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ หรือเชื่อมั่นในความเป็นทั้งหมดในท้ายที่สุดที่รอคอยเรา ณ วันเวลาแห่งอนาคตในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า" (Deleuze and Guattari 1983: p.42)
"ทฤษฎีอันหนึ่งที่ไม่ได้เหมารวมหมด; มันเป็นเครื่องมืออันหนึ่งสำหรับการเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และมันยังคูณตัวมันเองอีกด้วย... นั่นคือสิ่งที่เป็นในธรรมชาติของอำนาจที่จะรวมตัว และ... ทฤษฎีนั้น โดยธรรมชาติแล้วตรงข้ามหรือเป็นปรปักษ์กับอำนาจ" (Deleuze 1977a: p.208)
Gilles Deleuze และ Felix Guattari ได้ร่วมหัวจมท้ายในการผจญภัยเข้าไปในโพสท์โมเดิร์น ซึ่งพวกเขาพยายามที่จะสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆของความคิด, งานเขียน, ความเป็นอัตบุคคล, และการเมืองขึ้นมา. ขณะที่พวกเขาไม่ได้รับเอาวาทกรรมเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นมาใช้ และ Guattari (1986) ได้โจมตีมันในฐานะที่เป็นคลื่นลูกใหม่ของ cynicism (ลัทธิซีนิก ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ถูกกระตุ้นโดยความเห็นแก่ตัว พวกนี้จะละทิ้งอารยธรรมและขนบจารีตเพื่อปลดเปลื้องตัวเองให้เป็นอิสระ) และอนุรักษ์นิยม

แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาคือตัวแทนที่น่ายกย่องของฐานะตำแหน่งเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นในความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะถอดถอนปลดเปลื้องความเชื่อต่างๆของโมเดิร์นในเรื่องของเอกภาพ(unity), ลำดับชั้นสูงต่ำ, เอกลักษณ์, รากฐานต่างๆ, อัตบุคคล และ การเป็นตัวแทน, ขณะเดียวกันก็ให้การสรรเสริญหลักการต่างๆในทางตรงข้ามเกี่ยวกับความแตกต่าง และความหลากหลายในทางทฤษฎี, การเมือง, และชีวิตประจำวัน.

หนังสือที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งยุคของพวกเขาคือ Anti-Oedipus (1983; orig. 1972) เป็นการวิจารณ์ปลุกปั่นอันหนึ่งเกี่ยวกับวาทกรรมและสถาบันต่างๆของความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งได้มาระงับความปรารถนาและแพร่ขยายความเป็นอัตบุคคลแบบฟาสซิสท์ ที่สิงสู่อยู่ในขบวนการต่างๆของการปฏิวัติ. Deleuze และ Guattari เป็นนักทำสงครามการเมือง และบางทีเป็นพวกที่มีความกระตือรือร้นมากในการให้การสนับสนุนการเมืองขนาดเล็กต่างๆ(micropolitics) เกี่ยวกับความปรารถนาที่จะเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนให้เกิดขึ้นโดยการปลดปล่อยความปรารถนาออกมา

ผลที่ตามมาจากเหตุนี้ พวกเขาได้คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับแบบของโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งของการดำรงอยู่ ที่ที่ปัจเจกได้เอาชนะรูปแบบต่างๆของโมเดิร์นที่มากดบีบเกี่ยวกับเรื่องของเอกลักษณ์ และภาวะหยุดนิ่ง ที่จะกลายไปเป็นผู้ที่ร่อนเร่ไปตามความปรารถนาในกระบวนการต่อเนื่องเกี่ยวกับความเหมาะสมและการแปรสภาพ

Deleuze เป็นศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญา ผู้ซึ่งในช่วงปีทศวรรษที่ 1950s และ 1960s ได้ให้ความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดของ Spinoza, Hume, Kant, Nietzsche, Bergson, Proust และคนอื่นๆ. ส่วน Guattari เป็นนักจิตวิเคราะห์แนวปฏิบัติ ซึ่งนับแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950s ได้ทำงานที่คลีนิคการทดลองทางด้านจิตเวชศาสตร์, La Borde. เขาได้รับการฝึกฝนทางด้านจิตวิเคราะห์แนว Lacanian, เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองนับจากช่วงต้นๆ และได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ต่างๆเดือนพฤษภาคม 1968. เขาได้ร่วมงานกับนักทฤษฎีชาวอิตาเลี่ยน Antonio Negri (Guattari and Negri 1990) และได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวเพื่อปกครองตนเอง ซึ่งพยายามให้ได้มาซึ่งขบวนการปฏิวัติที่เป็นอิสระภายนอกโครงสร้างต่างๆขององค์กรพรรคการเมืองทั้งหลาย

Deleuze และ Guattari ทั้งสองประกอบอาชีพต่างกัน และได้มารวมกันเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1969 เมื่อพวกเขาเริ่มงาน Anti-Oedipus. อันนี้ได้รับการตามมาด้วย Kafka: Toward a Minor Literature(1986; orig. 1975), A Thousand Plateaus (1987; orig. 1980), และนอกจากนี้ยังมีผลงานต่างๆที่ต่างคนต่างทำอีกเป็นจำนวนมาก
มีความสนใจมากมายที่มีความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันระหว่างผลงานของพวกเขากับ Foucault. ที่เหมือนกันกับ Foucault ก็คือ Deleuze ได้รับการฝึกฝนมาทางด้านปรัชญา และ Guattari ได้ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชศาสตร์ และได้มีความสนใจในความรู้ทางด้านการแพทย์ในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมทางสังคม. Deleuze และ Guattari ได้ดำเนินรอยตามวิถีทางหรือแนวโน้มทั่วๆไปเกี่ยวกับการวิจารณ์ของ Foucault เกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่(modernity). คล้ายๆกับ Foucault, ความใส่ใจที่เป็นแกนกลางสำคัญของพวกเขาก็คือ เรื่องของความเป็นสมัยใหม่ ในฐานะที่เป็นขั้นตอนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการครอบงำ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการแพร่ขยายของวาทกรรมเกี่ยวกับการทำให้เป็นปกติ(normalizing discourse) และสถาบันต่างๆที่แพร่หลายไปทั่วในทุกๆด้านเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสังคมและในชีวิตประจำวัน

แต่อย่างไรก็ตาม มุมมองทางทัศนียวิทยาแบบภาพกว้างของพวกเขาต่อความเป็นสมัยใหม่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน. สิ่งที่เด่นชัดมากที่สุดก็คือ ในขณะที่ Foucault มีแนวโน้มที่จะวิพากษ์ในลักษณะรวมๆทั้งหมดเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่, Deleuze และ Guattari กลับค้นหาเพื่อที่จะสร้างทฤษฎีและแยกให้เห็นแง่มุมหรือด้านที่เป็นบวกและมีลักษณะปลดปล่อยของมัน การถอดระหัสเกี่ยวกับการไหลเลื่อนของแรงขับทางเพศ(libidinal)ที่นำไปสู่พลวัตรต่างๆของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม(the decoding of libidinal flows initiated to the dynamics of the capitalist economy).

ไม่เหมือนกันกับ Foucault, ผลงานของ Deleuze และ Guattari เป็นงานที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความรู้และเรื่องของเหตุผลไม่มากนัก กล่าวคือ เขาทั้งสองวิจารณ์เรื่องเหล่านี้น้อยกว่าเรื่องของสังคมทุนนิยม; ผลที่ตามมา การวิเคราะห์ต่างของพวกเขาได้ให้ความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อปริมณฑลต่างๆเกี่ยวกับขนบจารีตแบบมาร์กซิสท์มากกว่างานของ Foucault. แต่อย่างไรก็ตาม ที่เหมือนๆกันกับ Foucault คือ พวกเขาไม่ได้แสดงตัวหรือถือว่าพวกเขาเป็นมาร์กซิสท์ และปฏิเสธระเบียบวิธีในหลักวิภาษวิธีสำหรับตรรกะแบบโพสท์โมเดิร์นเกี่ยวกับความแตกต่าง, ทัศนียวิทยาแบบภาพกว้าง, และการแตกออกเป็นชิ้นๆ. ขณะเดียวกัน ทั้งสามได้มองภาพระยะใกล้ข้างหน้าและเห็นถึงความสำคัญของโครงสร้างขนาดเล็กที่สร้างเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการครอบงำขึ้นมา. Deleuze และ Guattari ค่อนข้างกล่าวออกมาอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของโครงสร้างขนาดใหญ่ด้วย และได้พัฒนางานวิจารณ์ที่ลงลึกไปในรายละเอียดเกี่ยวกับรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่การเน้นของ Foucault เจาะจงลงไปที่เทคโนโลยีต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องระเบียบวินัยของความเป็นสมัยใหม่ และพุ่งเป้าไปที่ร่างกายที่ตกอยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ของอำนาจ/ความรู้(power/knowledge). Deleuze และ Guattari กลับเพ่งความสนใจไปที่การทำให้เป็นอาณานิคมเกี่ยวกับความปรารถนาขึ้นมา(the colonization of desire) โดยวาทกรรมและสถาบันสมัยใหม่หลายหลาก. ขณะเดียวกัน ความปรารถนาเป็นแนวเรื่องรองอันหนึ่งในวงศ์วานวิทยาหลังๆของ Foucault เกี่ยวกับอัตบุคคล(subject), แต่สำหรับ Deleuze และ Guattari มันเป็นสิ่งสำคัญแรกสุดเลยทีเดียว
ผลลัพธ์ที่ตามมา วิธีการจิตวิเคราะห์, แนวความคิดเกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจ, การพัวพันอยู่กับ Freudo-Marxism, และการวิเคราะห์เกี่ยวกับครอบครัวและลัทธิฟาสซิสม์จึงแสดงบทบาทสำคัญยิ่งในงานของ Deleuze และ Guattari ยิ่งกว่างานของ Foucault, แม้ว่าการวิจารณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์จะสร้างขึ้นมาบนการวิจารณ์ของ Foucault เกี่ยวกับ Freud, จิตเวชศาสตร์, และวิทยาศาสตร์มนุษย์ก็ตาม

ในทางที่แย้งกันกับ Foucault ซึ่งเน้นเรื่องธรรมชาติการสร้างอำนาจ และปฏิเสธสมมุติฐานเกี่ยวกับการระงับ-ปราบปราม, Deleuze และ Guattari พร้อมที่จะพูดถึงเรื่องการระงับ-ปราบปรามเกี่ยวกับความปรารถนาอย่างเต็มที่ และพวกเขาได้ทำเช่นนั้น, เพราะพวกเขาได้สร้างแนวคิดที่มีสาระสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับความปรารถนาขึ้นมา. นอกจากนี้ เจตนาและความตั้งใจของ Deleuze และ Guattari ที่ให้การสนับสนุนการให้เสรีภาพทางด้านร่างกายและความปรารถนา ยืนหยัดอยู่ในความขัดแย้งที่แหลมคมกับความเห็นพ้องหรือการเข้าข้างของ Foucault ที่มีต่อโครงการ"เกรโค-โรมัน" ในเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมตัวตน(Foucault's sympathies to the Greco-Roman project of mastering the self).

อย่างไรก็ตาม นักทฤษฎีทั้งสามคนนี้พยายามที่จะกระจายชนชั้นกลางออกจากการเป็นศูนย์กลาง และทำการชำระสะสางเรื่องอัตบุคคลของมนุษย์(humanist subject). Foucault ติดตามเรื่องราวดังกล่าวโดยผ่านวิธีการโบราณคดีและวงศ์วานวิทยาเชิงวิพกาษ์(a critical archaeology and genealogy)ที่ได้ลดทอนอัตบุคคลลงมาสู่การเป็นผลของวาทกรรมและปฏิบัติการในเรื่องของวินัย, ขณะที่ Deleuze และ Guattari ได้ติดตามเรื่องของการทำลายล้างในลักษณะ schizophrenic (เกี่ยวกับจิตเภท)ของ ego และ super-ego โดยเห็นด้วยกับจิตไร้สำนึกที่เป็นพลวัตร

แม้ว่าต่อมาภายหลัง Foucault จะปรับทัศนะต่างๆของเขาในเรื่องของอัตบุคคล แต่นักทฤษฎีทั้งสามคนนี้ก็ปฏิเสธความคิดโมเดิร์นนิสท์เกี่ยวกับอัตบุคคลที่เป็นแบบเดียวกัน, ความมีเหตุมีผล, และการแสดงออก และพยายามที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการปรากฏตัวขึ้นมาของแบบฉบับใหม่อันหนึ่งของอัตบุคคลที่กระจายออกจากศูนย์กลาง(decetered subjects), และได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวเกี่ยวกับเอกลักษณ์ต่างๆที่เป็นแบบเดียวกันและการกำหนดตายตัว, และมีอิสระที่จะกระจายไป พร้อมทั้งมีลักษณะหลากหลาย, ที่ได้รับการก่อตัวขึ้นมาอีกครั้งในฐานะที่เป็นแบบฉบับใหม่อันหนึ่งความเป็นอัตบุคคลและร่างกายต่างๆ(new types of subjectivities and bodies).

นักเขียนทั้งสามคนได้แสดงให้เห็นการนับถือกันอย่างสูงสำหรับผลงานต่างๆของแต่ละคน. ในหนังสือของเขาเรื่อง Foucault (1988; orig. 1986 p.14), Deleuze ต้อนรับทักทาย Foucault ในฐานะนักคิดใหม่ในระดับถอนรากถอนโคนคนหนึ่ง ซึ่งผลงานของเขาเป็นตัวแทนของก้าวย่างที่แจ่มชัดมากที่สุด กระนั้นก็ให้การยอมรับในปฏิบัติการทางทฤษฎีเกี่ยวกับความหลากหลายต่างๆ. สำหรับในส่วนของ Foucault เอง(1977; p.213) อ้างว่า ผลงานของ Deleuze และ Guattari มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับเรื่องอำนาจ และได้เขียนบทนำที่ยกย่องสรรเสริญผลงานเรื่อง Anti-Oedipus.

ในงานวิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานของ Deleuze ใน "Theatrum Philosophicum" (1977: pp. 165-96), Foucault ยกย่องเขาสำหรับงานเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์ปริมณฑลต่างๆทางปรัชญาตะวันตก และสรรเสริญในความรู้ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์. และที่ Foucault แสดงความถ่อมตัวมากครั้งหนึ่ง คือการเอ่ยคำพูดออกมาในเชิงดูหมิ่นฐานะตำแหน่งหรือที่ทางของตัวเขาเองในประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่เขาเคยกล่าวว่า (1977; p.165) "บางทีสักวันหนึ่ง, ศตวรรษนี้จะถูกรู้จักในฐานะที่เป็นวันเวลาของแนวคิดแบบ Deleuzian"

ในการสนทนากันเรื่อง "Intellectuals and Power" (Foucault 1977: pp.205-17), สุ้มเสียงของ Foucault และ Deleuze ได้ผสมผสานคลุกเคล้ากันอย่างอิสระในโครงการที่มีส่วนร่วมกันอันหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างนิยามความหมายใหม่ขึ้นมาทางทฤษฎี ซึ่งมักจะปฏิบัติกันอยู่แล้วเสมอ ในส่วนตัวของแต่ละคน

Chapter 4: Baudrillard en route to Postmodernity
บทนำที่สี่ : Baudrillard ในเส้นทางสู่ความเป็นหลังสมัยใหม่
Jean Baudrillard ปรากฎตัวขึ้นมาในฐานะนักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงแพร่กะจายออกไปอย่างกว้างขวาง เขาได้รับสถานคุรุหรือครูในโลกของคนที่ใช้ภาษาอังกฤษ และผลงานต่างๆของเขาได้รับการแปลออกสู่ภาษาต่างๆอย่างรวดเร็วทั้งในภาษา สแปนิช, อิตาเลี่ยน, เยอรมัน, และอื่นๆด้วย. บรรดาผู้ช่วยและผู้ติดตามของ Baudrillard ยกย่องเขาในฐานะผ้ายันต์ของโพสท์โมเดิร์นสากลผืนใหม่ ในฐานะคนที่เกรียวกราวไปทั่วผู้ซึ่งได้สร้างพลังให้กับฉากของโพสท์โมเดิร์นในเชิงทฤษฎี ในฐานะนักทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นหลังสมัยใหม่ที่ใหม่มากคนหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ในทางตรงข้าม ขณะที่ Foucault และ Deleuze รวมทั้ง Guattari ไม่เคยรับเอาวาทกรรมเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นมาใช้, Baudrillard กลับแสดงตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโพสท์โมเดิร์น และได้รับการสวมมงกุฎในฐานะที่เป็นพระหรือบาทหลวงของยุคใหม่ในท้ายที่สุด. นอกจากนี้ Baudrillard ได้พัฒนาทฤษฎีที่น่าประทับใจมากและค่อนข้างสุดขั้วเกี่ยวกับความเป็นหลังสมัยใหม่ และมีอิทธิพลอย่างสูงในทฤษฎีทางวัฒนธรรมและการสนทนาเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนร่วมสมัย, ศิลปะ, และสังคม.

เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยา ณ มหาวิทยาลัย Nanterre นับจากทศวรรษ 1960s จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1987, Baudrillard ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ที่ปลุกเร้าขึ้นมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของวัตถุ, เครื่องหมาย, และระหัส ในสังคมบริโภคด้วยผลงานต่างๆของเขาในยุคต้นๆ. งานเขียนต่างๆเหล่านี้พยายามที่จะสังเคราะห์งานวิจารณ์แบบมาร์กเซียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย semiology (วิธีการทางเทคนิคซึ่งผู้คนสื่อสารโดยผ่านสัญลักษณ์และภาพต่างๆ) และเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามอันมากมายที่จะฟื้นฟูทฤษฎีปฏิวัติขึ้นมาหลังจากช่วงเหตุการณ์ในทศวรรษที่ 1960s. นอกจากนั้นยังมีงานวิจารณ์ที่แหลมคมเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ในเรื่อง The Mirror of Production (1975; orig. 1973) และได้เสนอทางเลือก, งานเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นที่ถกเถียงกันได้, มุมมอง, ทัศนียภาพแบกว้างๆเกี่ยวกับสังคมร่วมสมัยในเรื่อง L'echange symbolique et la mort (1976). ในหนังสือต่างๆที่เป็นบทสนทนาอย่างกว้างขวางชุดหนึ่งและบทความต่างๆในทศวรรษที่ 1970s และ 1980s, Baudrillard ได้ยึดติดกับสมมุติฐานล่วงหน้าบางอย่างเกี่ยวกับทฤษฎีและการเมืองสมัยใหม่, ขณะเดียวกันก็ให้ทัศนียภาพและมุมมองต่างๆเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์น

Chapter 5: Lyotard and Postmodern Gaming
บทนำที่ห้า : Lyotard และการเล่นเกมโพสท์โมเดิร์น
ในหลายวงการ Lyotard ได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นนักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นในระดับสุดยอด(par excellence) ในหนังสือของเขาเรื่อง The Postmodern Condition (1984; orig. 1979) ได้แนะนำถึงศัพท์คำนี้ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง และได้ถูกนำไปสนทนากันทั่วไปในการถกกันเกี่ยวกับหัวข้อโพสท์โมเดิร์นในช่วงทศวรรษหลังมานี้. ระหว่างวันเวลาดังกล่าว Lyotard ได้ตีพิมพ์งานหนังสือขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งให้การส่งเสริมฐานะสภาพต่างๆของโพสท์โมเดิร์นในทางทฤษฎี, จริยศาสตร์, รัฐศาสตร์, และสุนทรียศาสตร์.

เกือบยิ่งไปกว่าทุกๆคน Lyotard ได้สนับสนุนการแตกหักจากทฤษฎีและวิธีการของสมัยใหม่, ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกโพสท์โมเดิร์นที่ได้รับความนิยมชมชอบและแพร่หลายมาก. ผลลัพธ์ที่ตามมา ผลงานของเขาได้จุดประกายให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเข้มข้นขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ในหนังสือ Postmodern Theory ที่มีการพูดถึงอย่างละเอียด

พ้นไปจากข้อพิจารณาอื่นๆทั้งหมด Lyotard ได้ปรากฎตัวขึ้นมาในฐานะผู้ให้การสนับสนุนเด่นสุดเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างและความเป็นพหุนิยมในอาณาจักรและวาทกรรมต่างๆทางทฤษฎี ขณะเดียวกันก็โจมตีทฤษฎีรวบยอดแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมดและทฤษฎีต่างๆของความเป็นสากลอย่างมีพลัง

ในหนังสือเรื่อง The Postmodern Condition, Just Gaming (1985; orig. 1979), The Difference (1988; orig. 1983) และหนังสือในชุดอื่นๆและบทความต่างๆซึ่งได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980s เขาได้เรียกร้องความสนใจในความแตกต่าง ท่ามกลางพหุนิยมของกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดเกี่ยวกับถ้อยคำหรือวลีทั้งหลาย ซึ่งมีกฎระเบียบ, บรรทัดฐาน และวิธีการต่างๆของตัวมันเอง

การเน้นเรื่องเกี่ยวกับความไม่เป็นเนื้อเดียวกัน(ความแตกต่าง)ของวาทกรรมทั้งหลาย, Lyotard ได้ดำเนินรอยตาม Kant โดยให้เหตุผลว่า อาณาจักรต่างๆเหล่านั้นในฐานะที่เป็นการวินิจฉัยทางทฤษฎี, ภาคปฏิบัติ, และการตัดสินทางด้านสุนทรียภาพ มันมีความเป็นอิสระในตัวของพวกมันเอง มีกฎเกณฑ์ต่างๆ และบรรทัดฐานของมัน. ในหนทางนี้ เขาปฏิเสธความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีสากลนิยม และรากฐานนิยม เช่นเดียวกับข้ออ้างต่างๆที่ว่าวิธีการอันหนึ่ง หรือแนวความคิดชุดหนึ่งมีสถานภาพที่พิเศษในปริมณฑลต่างๆที่แตกต่างกันไป เช่น ปรัชญา, ทฤษฎีสังคม, หรือสุนทรียศาสตร์. ในการถกเถียงกับสิ่งที่เขาเรียกว่าทฤษฎีก่อการร้ายและทฤษฎีรวบอำนาจ, Lyotard สนับสนุนลักษณะพหุนิยมของวาทกรรมและฐานะสภาพต่างๆที่ค้านต่อทฤษฎีหนึ่งเดียวอย่างเด็ดเดี่ยว

ฐานะตำแหน่งอันมากมายของ Lyotard คือสิ่งที่สำคัญเบื้องต้นสำหรับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นร่วมสมัย และการศึกษาเกี่ยวกับไอเดียหรือความคิดเหล่านั้นของเขา จะพบว่ามันเป็นแกนหลักที่สำคัญที่สุดต่อการโต้เถียงกันในปัจจุบัน. นับแต่อาชีพการงานของเขาได้ดำเนินไปเป็นเวลายาวนานเกือบสี่ทศวรรษเกี่ยวกับกิจกรรมในทางทฤษฎีที่หลากหลาย จำเป็นอย่างยิ่งที่การโฟกัสของเราจะต้องเลือกสรร และต้องละเลยทฤษฎียุ่งยากบางอย่างแต่น่าสนใจของเขาจำนวนมากไป รวมถึงเรื่องของสุนทรียศาสตร์ และรัฐศาสตร์.

ขณะเดียวกันเราจะชี้ประเด็นไปที่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในงานต่างๆของ Lyotard จากจุดยืนเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น ซึ่งเป็นความต่อเนื่องอันหนึ่งด้วยเกี่ยวกับพัฒนาการของเขา. สำหรับทุกๆช่วงตอน, Lyotard ได้โจมตีวาทกรรมและทฤษฎีต่างๆของสมัยใหม่อย่างแหลมคม ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะพัฒนาวาทกรรมใหม่ๆ ยุทธวิธีการเขียน การเมืองชนิดต่างๆ และทัศนียภาพแบบภาพกว้างทั้งหลายขึ้นมา


อ้างอิง : สมเกียรติ ตั้งนโม.2544. ตามรอยแนวคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่ : ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น.[Online] Available URL ; http://www.midnightuniv.org/midnightweb/newpage1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น